วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2558

คู่มือเตรียมสอบ ป.1 - วิชา สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม - หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม (สรุปเนื้อหา)

คู่มือเตรียมสอบ ป.1 - วิชา สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม - หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม (สรุปเนื้อหา)

Download - เนื้อหา (PDF File)



หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม

สรุปเนื้อหา



1.   พุทธประวัติ
1.1 ประสูติ
พระพุทธเจ้ามีพระนามเดิมว่า สิทธัตถะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์กรุงกบิลพัสดุ์ กับพระนางสิริมหามายา พระองค์ประสูติเมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ที่สวนลุมพินีวัน ประเทศเนปาล
เมื่อประสูติได้ 7 วัน พระราชมารดาก็สิ้นพระชนม์ พระองค์ได้รับการเลี้ยงดูจากพระนางปชาบดี โคตรมี (น้านาง)

1.2 ตรัสรู้
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุได้ 29 พรรษา จึงตัดสินพระทัยออกผนวชเพื่อหาทางพ้นทุกข์ พระองค์ได้บำเพ็ญเพียรด้วยวิธีการต่าง ๆ เป็นเวลา 6 ปี จนกระทั่งพระชนมายุ 35 พรรษา จึงค้นพบหลักธรรมที่เป็นแนวทางพ้นทุกข์ ทำให้พระองค์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ที่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ ริมฝั่งแม่น้ำเรรัญชรา

1.3 ปรินิพพาน
หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าได้เผยแผ่หลักธรรมคำสอนนาน 45 ปี พระองค์ได้เสด็จปรินิพพานในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ที่ใต้ต้นสาละ ในสาลวโนทยาน กรุงกุสินารา ปัจจุบัน อยู่ในประเทศอินเดีย รวมพระชนมายได้ 80 พรรษา

2.  พุทธสาวก
สามเณรบัณฑิต
สามเณรบัณฑิต เป็นชาวเมืองสาวัตถุ เมื่ออายุ 7 ปี ท่านได้ขออนุญาตพ่อแม่ เพื่อไปบวชเป็นศิษย์ของพระสารีบุตรที่วัดเชตุวัน เมื่อบวชได้ 8 วัน พระสารีบุตรได้พาออกบิณฑบาตในหมู่บ้าน พบเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ในระหว่างทาง สามเณรบัณฑิตจึงคิดเปรียบเทียบว่า ไม้ไม่มีจิตใจยังสามารถตกแต่งให้มีรูปร่างอย่างที่ต้องการได้ มนุษย์เป็นผู้มีจิตใจ ย่อมจะฝึกอบรมให้เป็นผู้มีคุณธรรมได้
สามเณรบัณฑิต เมื่อถึงวัด จึงเข้าไปนั่งสมาธิ ทำจิตใจให้สงบเพียงลำพังในวิหาร ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
คุณธรรมของสามเณรบัณฑิตที่รู้จักช่างสังเกต ชอบซักถาม รู้จักคิด เปรียบเทียบ ทำให้ท่านสามารถบรรลุธรรมขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา

3.  ชาดก
สุวัณณสามชาดก
ณ กรุงพาราณสี มีดาบสสองสามีภรรยาอาศัยอยู่ในอาศรมกลางป่าหิมพานต์ มีบุตรคนหนึ่งชื่อสุวัณสาม เป็นเด็กที่มีเมตตากรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย ต่อมาดาบสตาบอดทั้งสองข้าง สุวัณณสาม จึงต้องทำหน้าที่คอยดูแลปรนนิบัติรับใช้
ต่อมาพระเจ้ากรุงพาราณสี ได้เสด็จล่าสัตว์ในป่าหิมพานต์ และยิงลูกศรอาบยาพิษถุกสุวัณสามจนเสียชีวิต พระเจ้ากรุงพาราณสี รับปากว่าจะเลี้ยงดูพ่อแม่ของสุวรรณสามให้
ดาบส เมื่อรู้ว่าสุวัณณสามเสียชีวิต ได้ตั้งจิตอธิษฐษนว่า สุวัณณสามเป็นคนดี ขอให้ความดีช่วยบันดาลให้ยาพิษในร่างกายของสุวัณณสามหายไป และฟื้นคืนชีวิต ด้วยแรงอธิษฐาน ทำให้สุวัณณสามฟื้นขึ้น ส่วนดาบสทั้งสองก็หายจากตาบอด และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

วัณณปุปถชาดก
ณ กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นนายกองเกวียน ต้องนำเกวียน 500 เล่ม ออกเดินทางไปกับบริวาร เพื่อค้าขายยังต่างเมืองในระหว่างทางต้อผ่านทะเลทรายที่แห้งแล้งทุรกันดาร ช่วงหยุดพัก จึงได้ช่วยกันทำอาหาร โดยใช้ฟื้น และน้ำจนหมดสิ้น แล้วเดินทางต่อไป บริวารทั้งหลายรู้สึกอ่อนล้า และหิวมาก ฟื้นและน้ำใช้ไปหมดแล้ว จึงท้อแท้
นายกองเกวียนคิดว่า ถ้าตนเองละความเพียรเสียอีกคน หมู่คณะถึงแก่ความตายอย่างแน่นอน จึงออกเดินสำรวจบริเวณโดยรอบ พบแต่แผ่นหิน ทุกคนก็ละความเพียร นายกองเกวียนมิได้ท้อใจ ลองเอาหูแนบที่แผ่นหิน ก็ได้ยินเสียงน้ำไหลอยู่ข้างล่าง จึงบอกให้บริวารเอาค้นทุบหินจนแตก ทันใดนั้น ก็มีสายน้ำพุ่งขึ้นมา ทุกคนต่างดีใจที่มีน้ำดื่ม และหุงอาหาร เมื่อตกกลางคืนก็ออกเดินทางต่อจนถึงจุดหมายปลายทางอย่างราบรื่น
4.  พุทธศาสนิกชนตัวอย่าง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชะนี เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ในหลวงทรงราชาภิเษกสมรสกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชโอรส และพระราชธิดารวม 4 พระองค์ พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมาย โดยไม่ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยาก ด้วยทรงมุ่งหวังที่จะให้ประชาชนของพระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมาย
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเป็นแบบอย่างในด้านความกตัญญูกตเวที โดยพระองค์ปฏิบัติตนเป็นพระราชโอรสที่ดีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นับเป็นแบบอย่างที่ดีงาม ประชาชนชาวไทยควรได้ศึกษาและปฏิบัติตาม

เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม)
เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) เป็นบุตรคนโตของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เกิดวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2385 บิดาถึงแก่อสัญกรรม จึงได้แต่งตั้งเป็นพระยาศรีธรรมราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช
ก่อนเป็นเจ้าเมือง ได้บวชอยู่ที่วัดพิชยญาติการาม กรุงเทพฯ ท่านสวดมนต์ไหว้พระอยู่เป็นประจำ ในคืนหนึ่ง ท่านสวดมนต์ไหว้พระอยู่ในกุฏิ ได้มีคนร้ายลอบยิงเข้ามา เป็นจังหวะที่ท่านก้มกราบพระ ทำให้รอดตาย
ขณะที่ท่านเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ท่านได้ร่วมมือกับข้าหลวงพิเศษ ปรับปรุงราชการเมืองนครศรีธรรมราช เช่น ปฏิรูปศาล โดยจัดให้มีศาล 3 ศาล คือ ศาลแพ่ง ศาลอาญา และศาลอุทรณ์ และช่วยปฏิสังขรณ์วันพระมหาธาตุฯ เมืองนครศรีธรรมราช
ใน พ.ศ. 2444 ท่านได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีจางวางเมืองนครศรีธรรมราช และอีก 2 ปีต่อมา ท่านก็ได้ถึงแก่อสัญกรรม


5.  หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
พระรัตนตรัย หมายถึง สิ่งที่มีค่าควรเคารพสูงสุดในพระพุทธศาสนา มี 3 ประการ ได้แก่
1)   พระพุทธ คือ พระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดา
2)  พระธรรม คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
3)  พระสงฆ์ คือ สาวกผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

โอวาท
โอวาท 3 หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า 3 ประการ คือ
1)   ไม่ทำความชั่ว คือ การไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีทั้งกาย วาจา และใจ การไม่ทำความชั่ว คือ เบญจศีล
เบญจศีล คือ ศีล 5 หมายถึง ข้อห้ามไม่ให้ทำความชั่วทางกาย และวาจา 5 ประการ
2)  ทำความดี คือ การทำสิ่งที่ถูกต้อง ดีงามทั้งทางกาย วาจา และใจ การทำความดีมีหลายหัวข้อ ดังนี้
เบญจธรรม หมายถึง ข้อปฏิบัติอันดีงาม 5 ประการ
สังคหวัตถุ 4 เป็นหลักปฏิบัติที่ช่วยยึดเหนี่ยวใจคนให้เกิดความรัก กตัญญูกตเวที ต่อพ่อแม่ และครอบครัว
มลคล 38 คือ ทำตัวดี ว่าง่าย และรับใช้พ่อแม่
3)  ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ผ่องใส่  หมายถึง การทำจิตใจให้แจ่มใส เบิกบาน มีความสุข

6.  พุทธศาสนสุภาษิต
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ (ตนแลเป็นที่พึ่งของตน) หมายถึง การพยายามทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องคอยให้ผู้อื่นมาช่วยเหลือ
มาตา มิตฺตํ สเก ฆเร (มารดาเป็นมิตรในเรือนของตน) หมายถึง แม่เป็นมิตรกับลูก ๆ เพราะแม่รักและปรารถนาดีต่อลูกของตน
7.  หน้าที่ชาวพุทธ
ชาวพุทธ คือ ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาด้วยความเลื่อมใส ศรัทธา

การบำเพ็ญประโยชน์ต่อวัด หรือศาสนสถาน
1)   ช่วยกันดูแล และรักษาความสะอาดภายในวัด
2)  ไม่ทำให้ทรัพย์สินภายในวัดชำรุดหรือเสียหาย
3)  บริจาคทรัพย์สิน สิ่งของ ค่าก่อสร้าง หรือซ่อมแซมอาคาร
4) เข้าร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ

การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ คือ การประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา
ขั้นเตรียมการ
1)   มอบตัว นำรายชื่อนักเรียนถวายพระอาจารย์ พร้อมนิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย 4 รูป
2)  จัดสถานที่ที่วัด เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ

ขั้นพิธีการ
1)   เมื่อพระสงฆ์มาพร้อมแล้ว ตัวแทนจุดธูปเทียน และกล่าวคำบูขาพระรัตนตรัย
2)  ตัวแทนนักเรียนถวายเครื่องสักการะ
3)  ผู้แสดงตนนั่งคุกเข่า ประนมมือ และกล่าวคำปฏิญาณตน
4) ผู้แสดงตนฟังพระอาจารย์ผู้เป็นประธานให้โอวาท
5) ตัวแทนนักเรียนกล่าวคำอาราธนาศีล 5
6) ตัวแทนนักเรียนถวายเครื่องไทยธรรม

   
8.  การบริหารจิตและการเจริญปัญญา
สติ คือ ความระลึกได้
ประโยชน์ของสติ
1)   สามารถควบคุมตนเองได้
2)  เรียนหนังสือ ทำการบ้านเสร็จ เกิดความผิดพลาดน้อย
3)  เป็นคนสุขุม รอบคอบ

การฟังเพลง และร้องเพลง เราต้องทำอย่างมีสติ เพราะจะทำให้เราจดจำเนื้อร้องได้อย่างแม่นยำ สามารถร้องเพลงได้ถูกทำนอง และถูกจังหวะ
การเล่นและทำงานอย่างมีสติ จะช่วยให้เราไม่ได้รับอันตราย และทำงานได้ถูกต้อง ไม่ผิดพลาด
การฝึกให้มีสติในการฟัง อ่าน คิด ถาม และเขียน การอ่านหนังสือ การคิด การถาม และการเขียนต้องทำอย่างมีสติ ทำให้เราจำและเข้าใจเรื่องที่ฟัง อ่าน คิด ถาม และเขียนได้อย่างถูกต้อง

9.  วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และศาสนพิธี
วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
1)   วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
2)  วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ก่อนเข้าพรรษา 1 วัน เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา และมีพระสงฆ์รูปแรก คือพระอัญญาโกณฑัญญะ
3)  วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ พระสงฆ์ 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
4) วันอัฏฐมีบูชา ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า

ศาสนพิธี
ศาสนพิธี คือ พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวพุทธได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นแบบแผนประเพณี
การบูชาพระรัตนตรัย เป็นศาสนพิธีอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธปฏิบัติกันก่อนที่จะทำพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ก่อนอาราธนาศีล และสมาทานศีล ก่อนถวายสังฆทาน การบูชาพระรัตนตรัย เราควรทำด้วยความตั้งใจและมีสติ











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น